โฟนิกส์ Phonics เป็นวิธีการออกเสียงตัวอักษรภาษาอังกฤษ ที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถฝึกอ่านภาษาอังกฤษได้ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เทคนิคการสอนโฟนิกส์จึงได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกับกลุ่มเด็กเล็กและกลุ่มผู้เริ่มต้นหัดเรียนภาษาอังกฤษ โฟนิกส์จึงกลายเป็นวิชาที่เกิดขึ้นมาใหม่ โดยคำว่า Phonics มาจากรากศัพท์ คือ คำว่า Phone ที่เเปลว่า เสียง และ -ics ที่แปลว่า วิชา หรือความรู้ เมื่อนำมารวมกัน Phonics จึงมีความหมายว่า
The Study of Sound วิชาที่มุ่งเน้น “ การศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ของเสียงกับตัวอักษร” นั่นเองค่ะ
ซึ่งโฟนิกส์ให้ความสำคัญกับ Letter Sound หรือเสียงของแต่ละตัวอักษรมาก ๆ เพราะเมื่อเด็กเล็ก หรือผู้ที่เริ่มต้นหัดอ่านภาษาอังกฤษ ได้รู้จักเสียงเหล่านั้นแล้ว พวกเขาจะสามารถผสมเพื่ออ่านออกเสียงคำศัพท์ภาษาอังกฤษใดๆ ได้ด้วยตัวเอง ยกตัวอย่าง คุณพ่อ คุณแม่ที่เรียนภาษาอังกฤษแบบดั้งเดิมในระบบโรงเรียน ที่คุณครูไม่เคยใช้หลักโฟนิกส์ในการสอนมาก่อน คุณพ่อ คุณเเม่ต้องท่องคำศัพท์ตามชื่อตัวอักษรแบบนี้ใช่ไหมคะเช่น Pet พี อี ที = เพ็ท หรือ Brush บี อาร์ ยู เอส เอช = บรัช
คำว่า Pet ได้ว่า เช่น เพอะ เอะ ถึ = เพ็ทถึ ( หากคุณพ่อ คุณแม่ลองออกเสียง เพอะ-เอะ-ถึ เร็วๆซ้ำไปซ้ำมา จะพบว่าสุดท้ายเราจะได้เสียงผสมออกมาเป็นคำว่า “ เพ็ทถึ ” ) หรือ คำว่า brush เบอะ เหร่อะ อะ ฉึ = บรัชฉฺ ก็จะผสมและเห็นความสัมพันธ์ุของเสียงกับตัวอักษร
จะเห็นว่าวิธีของเด็กที่รู้จักเคล็ดลับโฟนิกส์ จะฝึกลิ้นและใช้อวัยวะในปาก เพื่อการเปล่งเสียงอย่างสอดคล้องกัน ไล่เรียงทีละหน่วยเสียงย่อย เพื่อเกิดกระบวนการเชื่อมโยงระหว่างเสียงกับตัวอักษรอย่างเเท้จริง เมื่อเด็กๆสามารถจำ Letter Sound เสียงของตัวอักษร ได้ทั้งหมดแล้ว เค้าจึงมีความสามารถในการเปล่งหน่วยเสียงย่อยใดๆ และผสมเสียงเหล่านั้นเพื่ออ่านศัพท์ภาษาอังกฤษออกเป็นคำได้ โดยไม่ต้องท่องจำ เทคนิคการสอนโฟนิกส์ช่วยให้เด็กเข้าใจการออกเสียงตัวอักษรภาษาอังกฤษ และสามารถอ่านออกเสียงภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น ช่วยให้การเรียนภาษาอังกฤษกลายเป็นเรื่องสนุก สรุปหัวข้อย่อยในบทความนี้ (อยากอ่านประเด็นไหน ก็คลิกที่หัวข้อย่อยได้เลยค่ะ) 1. ระบบเสียงในภาษาอังกฤษ มีกี่เสียงกันแน่ 2. แล้วเด็ก ๆ ควรรู้โฟนิกส์กี่เสียง 3. โฟนิกส์สำคัญอย่างไร ในการเรียนภาษาอังกฤษ 4. โฟนิกส์เหมาะกับเด็กวัยกี่ขวบ 5. เทคนิควิธีการสอนโฟนิกส์เบื้องต้น ถ้าสนใจศึกษาเพิ่มเติมเรื่องการเรียนโฟนิกส์ ให้อ่านบทความต่อไปนี้ค่ะ- การสอนทักษะ Phonemic Awareness (การรับรู้หน่วยเสียงย่อย) สิ่งแรกที่ผู้เรียนโฟนิกส์ควรรู้
- เรียนโฟนิกส์อย่างไรให้ได้ผลลัพธ์เหมือนเจ้าของภาษา (ในบทความนี้มีคลิป ครูโบว์แนะนำให้เปิดฟังให้จบนะคะ)
- ขั้นตอนการสอนโฟนิกส์ มีอะไรบ้าง เริ่มต้นฝึกโฟนิกส์ให้ลูกได้อย่างไร
- Jolly Phonics คืออะไร ดีไหม และดีอย่างไร ทำไมครูโบว์ถึงเลือก Jolly Phonics มาสอนเด็ก ๆ
- หรือถ้าสนใจ คอร์สเรียน Jolly Phonics ของครูโบว์ ก็คลิกไปได้เลยค่ะ
- กรณีศึกษาของโรงเรียนที่ใช้วิธีการสอนภาษาอังกฤษแบบ Jolly Phonics และสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ภายใน 1 ปี
- แม้ไม่ใช่เจ้าของภาษา แต่นักเรียนก็สามารถอ่านและเขียนภาษาอังกฤษได้ดี : กรณีศึกษาการสอน Jolly Phonics ของโรงเรียนนานาชาติ Budding Minds ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย
ระบบเสียงในภาษาอังกฤษมีกี่เสียงกันแน่? The English alphabet has 26 letters.
ภาษาอังกฤษมี 26 ตัวอักษร ประกอบไปด้วย พยัญชนะ ( consonant ) 21 ตัว และ สระ ( vowel ) 5 ตัว ด้วยกัน แต่เสียงในภาษาอังกฤษมีมากถึง 44 เสียง ซึ่งสามารถอ้างอิงจำนวนเสียงตามระบบ IPA (International Phonetic Alphabet) หรือ วิชาสัทธอักษรสากล ที่นักภาษาศาสตร์คิดค้นขึ้นมาเพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์มาตรฐานการออกเสียงของภาษาใดๆทั่วโลกแต่ด้วยความที่ภาษาอังกฤษมีตัวอักษรน้อยมากๆ การสร้างเสียงจึงเกิดจากการหยิบตัวอักษรมารวมกัน
เช่น เสียง /sh/, /th/, /ch/ และ /ng/ เมื่อนำพยัญชนะสองตัวมารวมกัน จึงทำให้เกิดการสร้างเสียงใหม่ หรือแม้แต่เสียงของสระที่มีทั้งเสียงสั้น และเสียงยาว เช่น /ai/,/a_e/, /ie/ และ /ou/ เมื่อรวมสระสองตัวก็เกิดเป็นเสียงใหม่ เช่นกัน
แล้วเด็กๆควรรู้โฟนิกส์กี่เสียง ?
เราจะเห็นได้ว่าเด็กโฟนิกส์เรียนเรื่องเสียง มากกว่า 26 เสียงอย่างแน่นอน ซึ่งถ้าอ้างอิงตามระบบโฟนิกส์อันดับหนึ่งของโลกจากประเทศอังกฤษ อย่างจอลลี่โฟนิกส์ (Jolly Phonics) ซึ่งจะสอนทั้งหมด 42 เสียงหลักด้วยกัน โดยแบ่งออกเป็น 7 กลุ่มเสียง ไล่เรียงลำดับจากกลุ่มเสียงที่ง่ายไปเสียงที่ยาก ซึ่งในระบบ Jolly จะสอนเพียง 39 เสียงของระบบ IPA เท่านั้น
เสียงที่ Jolly ไม่ได้สอนได้เเก่เสียง /ʒ/, /ə/, /ɪə/, /eə/, /ʊə/ เนื่องจากรูปอักษรในภาษาอังกฤษที่ใช้แทนหน่วยเสียงย่อยดังกล่าว มีความซับซ้อนและยุ่งยากสำหรับเด็กเล็กเกินไป เช่น เสียง /ʒ/ ในคำว่า television และ delusion (ปกติตัว s จะออกเสียง /s/ “ซึ” เช่นในคำว่า sit sat sand แต่ s ในคำว่า television ออกเสียง /ʒ/ ) และ เสียง /ə/ “เออะ” ในคำว่า lemon เลเหมิ่น, salmon แซเหมิ่น ที่ตำแหน่งการออกเสียง เกิดในพยางค์ที่ไม่เน้น
สนใจคลิกอ่านเพิ่มเติมได้ว่า Jolly Phonics ดีไหม ดีอย่างไร ทำไมครูโบว์ถึงเลือกมาใช้สอนเด็ก ๆ ^^
โฟนิกส์สำคัญอย่างไร ในการเรียนภาษาอังกฤษ ?
Kids are great imitators, so give them something great to imitate.
โดยธรรมชาติ คุณพ่อคุณแม่จะแอบสังเกตเห็นว่า “ลูกเป็นนักเลียนแบบที่ยอดเยี่ยม เราจงมอบสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดให้เค้าได้เลียนแบบ” อย่างที่ทราบกันดีค่ะ เราสามารถฝึกลูกเล็กตั้งแต่วัย 1 ขวบเป็นต้นไปให้รู้จักเรื่องเสียงได้ ให้เค้าได้ยินหน่วยเสียงย่อยบ่อยๆ ผ่านการ ร้องเพลง เต้น ทำท่าประกอบ หรือ แม้กระทั่ง การฝึกพูดกับลูก หากลูกมีต้นแบบการออกเสียงที่ถูกต้อง เค้าจะสามารถเลียนแบบบุคคลใกล้ชิดได้ดีที่สุด
เช่น เราอาจจะชวนลูกคุยในชีวิตประจำวัน
Mom: “ What is this animal ? ”
Kid: ……
Mom: “ This is the cat. /c/,/c/,/c/ cat. ”
การสร้างการตระหนักรู้ในเรื่องหน่วยเสียงย่อย หรือ phonemic awareness ให้เด็กเล็กตั้งแต่ในวัยที่เค้ายังไม่ทันได้รู้จักตัวอักษร เป็นสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ที่จะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการเรื่องเสียงได้ดียิ่งขึ้น เมื่อลูกโตขึ้นมาอีกนิด สัก 2.5-3.5 ขวบ น้องเริ่มรู้จักตัวอักษร และถอดเสียงโฟนิกส์มากยิ่งขึ้น เด็กที่เก่งโฟนิกส์จะใส่ใจและแม่นยำในหน่วยเสียงย่อย เค้าจะไม่ลืมเสียงต้น ( initial sound ) เสียงสระ ( vowel sound ) และเสียงท้าย ( final sound ) นั่นเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมเด็กโฟนิกส์ถึงอ่านคำศัพท์ภาษาอังกฤษใด ๆ และได้สำเนียงใกล้เคียงเจ้าของภาษา เพราะภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ออกทุกหน่วยเสียงอย่างชัดเจน
เมื่อเด็กๆแยกและถอดรหัสเสียงของแต่ละตัวอักษรได้ จากนั้นผสมเสียงรวมเป็นหนึ่งคำศัพท์ ทักษะโฟนิกส์ที่สำคัญมากตรงนี้ จะส่งผลให้เด็กๆ ต่อยอด การอ่าน และการเขียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษพื้นฐานใด ๆ ในระบบโฟนิกส์ได้ ซึ่งศัพท์โฟนิกส์เบื้องต้นมีมากถึง 1,200 คำ
วิชาโฟนิกส์เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องเสียง เปรียบเสมือนเราเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรายังต้องให้ลูกแม่นยำสูตรคูณ ท่องสูตรคูณให้ได้ก่อน เพื่อจะได้ใช้สูตรนี้ในการแก้ปัญหาโจทย์ระดับสูงยิ่งๆขึ้นไป ฉันใดก็ฉันนั้น การเรียนภาษาอังกฤษ ลูกๆต้องได้รู้จักสูตรเรื่องเสียงทั้งหมดในวิชาโฟนิกส์เสียก่อน เพื่อให้ลูกได้นำหน่วยเสียงต่างๆ ที่รู้จักแล้วไปต่อยอดในการเปล่งเสียงสะกดและอ่านคำศัพท์ใดๆ ในวิชาภาษาอังกฤษที่โรงเรียน หากปราศจากการศึกษาเรื่องเสียงแล้ว รวมถึงละเลยวิชาโฟนิกส์ไปตั้งแต่เเรก ก็เปรียบเสมือนการขาดจุดเริ่มต้นและองค์ประกอบที่เล็กที่สุด แต่สำคัญที่สุดของการเรียนภาษา เหมือนเราให้ลูกเรียนคณิตศาสตร์ แต่ลูกกลับไม่แม่นสูตรคูณเท่านั้นเอง จึงเกิดอุปสรรคและต่อยอดในการเรียนได้ยาก
“ดังนั้นความสำคัญของวิชาโฟนิกส์จึงมุ่งเน้นให้เด็กๆจะได้คุ้นชิน กับการฝึกผสมเสียงพยัญชนะและ สระต่างๆ ในภาษาอังกฤษ
ทั้งสระเสียงสั้น เสียงยาว ที่หลากหลายและแม่นยำ จนเป็นที่มาของการอ่านคำศัพท์ใดๆ ให้เกิดความคล่องแคล่วได้และไม่ต้องท่องจำนะคะ“
ความคิดเรื่อง “ เก่งเสียง ” ทำให้ “ อ่านศัพท์อังกฤษออก ” ได้รับการยอมรับทั่วโลก แม้กระทั่งประเทศเจ้าของภาษาอย่าง สหรัฐอเมริกา ( NRP: National Reading Panel,2000 ) ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐบาล มอบหมายโดยรัฐสภาสหรัฐ ให้วิเคราะห์ผลงานวิจัยจากทั่วประเทศ เพื่อหาวิธีการที่ดีที่สุด ในการสอนให้เยาวชนอ่านออก และทางองค์กรได้ระบุให้การสอนเรื่อง การตระหนักหน่วยเสียงย่อย ( phonemic awareness ) และการเชื่อมโยงตัวอักษรภาษาอังกฤษกับหน่วยเสียง ( phonics ) เป็นขั้นตอนที่มาก่อนการสอนอ่านคำศัพท์ใดๆ หน่วยเสียงย่อย Phonemes เป็นกุญแจสำคัญอย่าางยิ่งในการบ่งชี้ความสำเร็จในการสอนเด็กที่มีปัญหาเรื่องอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้
ซึ่งมันเกิดขึ้นจากการที่พวกเค้าไม่สามารถถอดรหัสหน่วยเสียงย่อย เพื่อรวมหน่วยเสียงเป็นหนึ่งคำศัพท์ได้ การฝึกเด็กๆ ให้เก่งเรื่องเสียง ด้วยการเรียน “ โฟนิกส์ ” ก่อน คือการสอนให้นักเรียนเชื่อมโยงเสียงกับตัวอักษรได้ ซึ่งเมื่อนักเรียนเชื่อมโยงได้เเล้ว พวกเขาก็สามารถอ่านออกเขียนได้ การสอนโฟนิกส์ จึงถูกกำหนดไว้ในหลักสูตรแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หลักสูตรแกนกลางเพื่อสอนในโรงเรียนของประเทศ อังกฤษ ฟินแลนด์ ฮ่องกง ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และอีกหลายประเทศทั่วโลก ให้ครูสอนภาษาต้องสอนโฟนิกส์เพื่อการอ่านออกของนักเรียน
โฟนิกส์เหมาะกับเด็กวัยกี่ขวบ ?
เราสามารถเริ่มสอนโฟนิกส์ลูก โดยให้เริ่มจากการสร้างความตระหนักในการเรียนรู้เรื่อง หน่วยเสียงย่อย ( phonemic awareness ) ดังที่ครูโบว์ได้เกริ่นมาก่อนหน้านี้เเล้ว ให้กับลูกในวัย 1 ขวบเป็นต้นไป หรือ ชั้นเตรียมอนุบาล หรือปฐมวัย และจากนั้นให้เริ่มสอนโฟนิกส์จริงจังให้กับเด็กๆในชั้นอนุบาล 1 – 3 และวัยชั้นประถมศึกษา ป.1-3 อ่านมาจนถึงตอนนี้ เราคงปฎิเสธกันไม่ได้ว่า Phonics ในบ้านเรา ถึงเวลาจริงจังกันหรือยังที่จะต้องถูกผลักดันและส่งเสริมให้เป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง ของการเริ่มสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียน หากวันนี้ลูกๆของคุณพ่อคุณแม่ ยังไม่ได้เริ่มเรียนโฟนิกส์ควบคู่กับการฝึกพูดก่อน แต่ถูกข้ามขั้นตอนการเรียนการสอนไปเริ่มที่ การเขียนเพื่อการอ่านได้ หรือเรียนไวยากรณ์ของภาษาอังกฤษเลยก็เป็นที่น่าเสียดาย ว่าปัญหาที่เด็กๆจะไม่ถูกเปิดใจ ให้รักและชอบภาษาอังกฤษก่อน จะได้รับการปลดล็อคสักทีเทคนิควิธีการสอนโฟนิกส์เบื้องต้น
-
-
- ลูกๆรู้จักหน่วยเสียงย่อยมาบ้างแล้ว ผ่านกระบวนการ ( phonemic awareness )
- สร้างความคุ้นชินให้ลูกรู้จักและเห็นทั้ง 26 ตัวอักษรในภาษาอังกฤษ ผ่านกิจกรรมการร้อง เล่น เต้น การสัมผัส การระบายสี การลากเส้น การใช้กล้ามเนื้อมือต่างๆ
- เริ่มไล่สอนทั้ง 26 เสียงผ่านเพลงประกอบ และทำท่าการออกเสียง
- หากต้องการให้ลูกผสมเสียงได้เร็วแนะนำให้สอนด้วยการใช้ระบบ Systematic Synthetic Phonics ของ Jolly Phonics ที่แบ่งการออกเสียงเป็นกลุ่มอย่างชัดเจน เพราะ Jolly ได้จัดกลุ่มให้เด็กเริ่มฝึกจากหน่วยเสียงที่เปล่งได้ง่ายที่สุด เช่นเรียนเพียงกลุ่มเเรก s, a, t, i, p, n ลูกสามารถอ่านออกทันที 30 คำ รายละเอียดมีต่อในบทความหัวข้อ Jolly Phonics
- ฝึกให้ลูกเขียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษตามกลุ่มเสียง จนเกิดความคุ้นชิน
- ใช้แบบฝึกหัดโฟนิกส์ หรือใบงานโฟนิกส์ที่ออกแบบให้ลูกได้ฝึกทักษะการเขียนและคุ้นชินกับตัวอักษรมากขึ้น
- ให้ลูกอ่านนิทานโฟนิกส์ ซึ่งมีการจำกัดคำศัพท์อังกฤษและกลุ่มเสียงเฉพาะที่ลูกได้เรียนมาเเล้ว
- เริ่มสอน sight words สัปดาห์ละ 5 คำ ควบคู่กับการสอนโฟนิกส์
- ให้ลูกฝึกนำศัพท์โฟนิกส์มาแต่งประโยค หรือ เขียนตามคำบอก
- เล่นเกมทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับโฟนิกส์ ไว้วันหลังครูโบว์จะมาแนะนำกิจกรรมให้คุณพ่อคุณแม่เพิ่มเติมนะคะ
- ฝึกอีก 6 กลุ่มเสียงที่เหลือจนครบ 42-44 เสียงหลัก ด้วยการฝึกตามข้อ 5-10 ควบคู่กันทุกครั้ง
-
ด้วยรักจากใจอยากเห็นเด็กไทยอ่านออกเขียนได้ ครูโบว์
EngBrain #ครูสอนโฟนิกส์